รวม 5 แนวทางที่ทำให้ลูกซ้อมดนตรีได้อย่างมีความสุข

By Thai Pianist, 22 January 2022

ซ้อมเปียโน ซ้อมไวโอลิน

ส่งลูกไปเรียนดนตรีแล้ว แต่ลูกไม่ยอมฝึกซ้อมเลย...
ตอนแรกก็สนุก แต่พอยากขึ้นก็ไม่อยากซ้อมแล้ว...
กลัวลูกเลิกเล่นดนตรีกลางคัน เพราะไม่ซ้อมเลย...
แล้วจะทำยังไงให้ลูกซ้อมดนตรีได้อย่างมีความสุข ?

ขึ้นชื่อว่า ‘ดนตรี’ แล้ว ถึงแม้จะเป็นวิชาที่ว่าด้วยสุนทรียะจากเสียงเพลง ตัวโน้ต เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทำให้เรามีความสุขได้ เด็ก ๆ หลายคนก็ชอบที่จะเรียนดนตรี บางคนก็ชอบถึงกันเป็นฝ่ายขอให้พ่อแม่พาไปเรียนกันเลยทีเดียว พ่อแม่พอเห็นลูกมีความสุขกับสิ่งที่ทำตรงหน้าก็ดีใจกันไป แต่จริง ๆ แล้วดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องสนุกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะคนเล่นดนตรีจะรู้กันดีว่า กว่าจะเล่นได้แต่ละเพลงแต่เทคนิค ไม่ใช่แค่เล่น ๆ ไปเถอะแล้วจะทำได้ แต่ต้องอาศัย ‘การซ้อม’เท่านั้น

ซึ่งการซ้อมของนักดนตรีนั้นก็ไม่ได้ง่าย ๆ เลย เพราะมีเทคนิคเป็นพัน ๆ แบบที่ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ห้ามเพี้ยน สเกลที่ห้ามผิด ในทางเครื่องสีจะใช้คันชักอย่างไร จังหวะแค่ไหน ช้าหรือเร็ว รายละเอียด น้ำหนักมือ แรงกด เสียงที่ออกมา ความคมชัดและก็ยังต้องห่วงไปถึงความไพเราะต่อคนฟังอีกด้วย

เรื่องนี้นอกจากนักดนตรีที่รู้กันดีอยู่แล้ว พ่อแม่หลาย ๆ คนก็ทราบดีว่าเมื่อส่งลูกไปเรียนดนตรีแล้ว ลูกก็จะต้องซ้อมจนกว่าจะเล่นได้ ช่วงแรก ๆ ลูกก็ดูสนุกที่ได้ฝึก แต่พอเริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกก็ไม่มีความสุขกับการซ้อมดนตรีอีกต่อไป พ่อแม่เองก็ได้แต่กุมขมับว่าจะทำอย่างไรดี ให้ลูกมีความสุขกับการซ้อมดนตรีมากกว่านี้…

แต่ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ วันนี้บทความของเราจะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนไปดู 5 แนวทางที่จะทำให้ลูกซ้อมดนตรีได้อย่างมีความสุข!! ไปดูกันว่าจะทำอะไร ทำอย่างไรได้บ้าง

1. ไม่บังคับลูกให้ต้องซ้อมดนตรี
อาจจะงงว่า เอ๊ะ ตอนแรกบอกว่าการซ้อมสำคัญมาก แต่ถ้าไม่บังคับลูกจะซ้อมมั้ย ที่บอกว่าไม่บังคับคือ พยายามจูงใจเขาให้อยากซ้อมเอง อย่าบังคับเขามากเกินไป เพราะธรรมชาติของเด็กคือ ยิ่งถูกบังคับยิ่งต่อต้าน

2. สร้างวินัยในการซ้อม
อาจจะเป็นการแบ่งเวลาในหนึ่งวันให้กับเขาว่าช่วงกี่โมงถึงกี่โมง ให้เขาซ้อมดนตรี ต้องไม่ใช่เวลาที่ยาวนานจนเกินไป เพียงวันละ 10-15 นาที ถ้าทำทุกวันก็ถือเป็นการซ้อมแล้ว เป็นช่วงเวลาก่อนกินข้าวเย็น หรือ ก่อนทานอาหารว่างภาคบ่ายก็ได้ แต่ช่วงเวลานอกเหนือจากนี้พ่อแม่ก็ต้องปล่อยให้เขาทำอย่างอื่นตามใจด้วย

3. สร้างชาเลนจ์ หรือเกมสั้น ๆ ระหว่างซ้อม
เป็นการใช้จิตวิทยาของเด็กที่ชอบการแข่งขันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยพ่อแม่อาจจะบอกว่า ถ้าทำเทคนิคนี้ให้ได้ 10 ครั้ง จะได้อะไร เป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ ในทางดนตรีการทำซ้ำบ่อย ๆ นี่แหละที่จะนำไปสู่ความชำนาญในเทคนิคนั้น

4. ร่วมสนุกไปกับลูก
ถ้าพ่อแม่เล่นเครื่องดนตรีเป็นอยู่แล้ว ก็ลองหยิบเครื่องดนตรีมาเล่นกับลูกดู เวลาเด็กเห็นพ่อแม่มีส่วนร่วมก็จะสนุกมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองได้รับความสนใจ แต่ถ้าเล่นไม่เป็น ก็อาจจะหยิบอุปกรณ์รอบ ๆ ตัวมาช่วยสร้างจังหวะในการซ้อม หรือมาตีมาเคาะสร้างความสนุกก็ได้ ไม่ต้องซีเรียสเรื่องความถูกต้องมาก เน้นไปที่ความสนุกสนานให้มากกว่า

5. หมั่นชื่นชมเมื่อเขาซ้อม
เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ไม่ว่าจะซ้อมเป็นเพลงหรือซ้อมเทคนิค ถ้าเขาทำได้ เล่นเทคนิคนั้นได้ และบรรเลงจบเพลง พ่อแม่ต้องคอยชื่นชมเขา ให้เขารับรู้ถึงความดีใจเมื่อทำได้ แล้วเขาจะรู้สึกสนุกที่จะฝึกซ้อมเทคนิคต่อ ๆ ไป

นี่ก็เป็นทั้ง 5 แนวทางที่จะทำให้ลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ซ้อมดนตรีได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาลูกไม่มีความสุขกับการซ้อมดนตรีได้เป็นอย่างดี ลองนำไปทำตามดูสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกกำลังเรียนดนตรีและกำลังฝึกซ้อมเทคนิคต่าง ๆ อยู่ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะมี ‘นักดนตรี’ ที่ขับกล่อมโลกใบนี้ด้วยความไพเราะของเสียงเพลงเพิ่มอีกหนึ่งคนก็เป็นได้

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาอยู่ตอนเด็กๆซ้อม “พาน้องซ้อมดนตรี” เป็นอีกหนึ่งคอร์สที่ Thai Pianist เปิดเพื่อช่วยน้องซ้อมได้อย่างถูกต้อง รวมถึงสร้างวินัยในการซ้อมดนตรีให้น้องๆได้อีกด้วย ราคาเริ่มต้น เพียง 300 บาทต่อครั้ง 

โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 061-9542244 หรือ 089-6792835
Line : @thaipianist

 

สอบถามข้อมูล